2007年8月11日土曜日

ประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล ประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งคณะคอมมิตี้ เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาล โดยใช้ที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลัง มาเป็นที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" ในระหว่างการสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ได้สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล และเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาล พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า โรงศิริราชพยาบาล

ยุคโรงศิริราชพยาบาล (พ.ศ. 2429 - พ.ศ. 2431)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล โดยมีชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้น ในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ในปัจจุบัน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยุคโรงเรียนแพทยากร (พ.ศ. 2432-พ.ศ. 2440)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์ และพระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย ในโอกาสนั้นโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตรให้แพทย์ รุ่นที่ 8 จำนวน 9 คน และพยาบาลรุ่นแรก จำนวน 10
ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล
ในช่วงนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยมี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับภาระเป็นผู้แทนฝ่ายไทย และได้ขยายหลักสูตรเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต ต่อมา มูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนพยาบาล และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย

ประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล ยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2512)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เรียกว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล" มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม ในช่วงนี้มีการจัดตั้งคณะต่าง ๆ อีกมากมายเพื่อให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้
นอกจากนี้ ในปีพ.ศ.2525 ยังได้จัดการศึกษาขยายวิทยาเขตไปยัง วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม ด้วย

พ.ศ. 2512 จัดตั้ง คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
พ.ศ. 2514 จัดตั้ง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
พ.ศ. 2515 โอน คณะทันตแพทยศาสตร์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2515 โอน คณะเภสัชศาสตร์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2515 จัดตั้ง คณะพยาบาลศาสตร์
พ.ศ. 2520 จัดตั้ง สถาบันวิจัยโภชนาการ
พ.ศ. 2521 จัดตั้ง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
พ.ศ. 2524 จัดตั้ง สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
พ.ศ. 2524 จัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พ.ศ. 2528 จัดตั้ง วิทยาลัยนานาชาติ
พ.ศ. 2532 จัดตั้ง ศูนย์ศาลายา
พ.ศ. 2533 จัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์
พ.ศ. 2536 จัดตั้ง วิทยาลัยราชสุดา
พ.ศ. 2539 จัดตั้ง วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
พ.ศ. 2540 จัดตั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2540 จัดตั้ง สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์
พ.ศ. 2542 จัดตั้ง คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์
พ.ศ. 2547 จัดตั้ง คณะศิลปศาสตร์

0 件のコメント: